วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2559

การเก็บรักษายา

    การเก็บรักษายา 
     
     ใน แง่ของการดูแลรักษาคนที่คุณรัก และตัวคุณเองนั้น ทุกคนยอมรับว่า นอกจากการไปพบแพทย์ เพื่อให้ได้การตรวจวินิจฉัย ให้ถูกต้องกับโรคที่ตนเองเป็นแล้ว การใช้ยาให้ถูกต้องก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แพทย์ผู้ดูแลจะสั่งยาต่างๆ ที่เหมาะสม และเลือกขนาดยาที่ถูกต้องให้ ซึ่งขั้นตอนต่อไป คือ การที่ผู้ป่วยจะต้องทานยาตามที่แพทย์สั่ง แต่ก็จะมีเรื่องเล็กๆ ที่สำคัญ และ บางครั้งอาจเป็นสิ่งที่ ทำให้เกิดการรักษาที่ไม่ได้ผล หรือ มีผลข้างเคียงจากการรักษาได้โดยไม่ได้ตั้งใจ เรื่องนั้น คือ “การเก็บรักษายา” 

     เนื่องจากยาในปัจจุบันนั้น มักจะมีราคาสูง ทำให้หลายคน พยายามเก็บยาไว้ใช้ให้นานที่สุด จึงอยากแนะนำวิธีเก็บรักษายาให้ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ของคุณเองและคนที่คุณรัก การเก็บรักษายา อย่างถูกต้อง เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่สำคัญต่อการรักษาคุณภาพยา ให้คงอยู่ตามมาตรฐาน ตั้งแต่บริษัทผู้ผลิต โรงพยาบาล คลินิก หรือ ร้านขายยา จนกระทั่งถึงผู้ป่วย สิ่งที่มีผลต่อคุณภาพของยา โดยทั่วไปได้แก่ ความร้อน, ความชื้น, และ แสง
    ข้อควรปฏิบัติในการเก็บรักษายา
  • อ่านสลากยาให้ครบถ้วน รวมทั้งคำแนะนำการเก็บรักษายา
  • กรณี ยาทั่วไป ที่ไม่ระบุการเก็บรักษาเป็นพิเศษ ให้เก็บยาที่อุณหภูมิห้องบริเวณที่ไม่ร้อน และ ไม่มีแสงแดดส่อง ห้ามทิ้งยา ไว้ในรถยนต์ เพราะ เมื่อจอดกลางแดด แม้เพียงไม่นานอุณหภูมิในรถจะร้อนมาก ทำให้ยาเสื่อมได้ง่าย และ ควรเก็บในที่ที่เด็กหยิบยาเองไม่ได้
  • กรณี ยาที่ระบุว่าให้เก็บยาไว้ในตู้เย็น ห้ามแช่แข็ง หมายถึงให้เก็บในตู้เย็นช่องปกติ ไม่ควรเก็บที่ชั้นใกล้ช่องแช่แข็ง เพราะ มีความเย็นจัดจนทำให้เป็นน้ำแข็งได้ หรือเก็บที่ประตูตู้เย็น เพราะอุณหภูมิอาจไม่เย็นพอ จากการที่มีการเปิด ปิด ประตูตู้เย็น บ่อยๆ
  • ยา ที่บรรจุ ในขวดสีชา หมายถึงยาที่ต้องป้องกันไม่ให้ถูกแสง ไม่ควรเปลี่ยนภาชนะบรรจุยา ไปเป็นแบบใสหรือ ขาว เพราะจะทำให้ยาเสื่อมได้จากแสง
  • ยาที่ต้อง ระมัดระวังเรื่องความชื้นควรใส่สารกันชื้น (มักเห็นเป็นซองเล็กๆ ภายในมีเม็ดกันชื้นอยู่สอดอยู่ในขวดยา) ไว้ตลอดเวลา และ ปิดภาชนะบรรจุให้แน่น
  • ควรเก็บยาไว้ในภาชนะบรรจุเดิมซึ่งมีสลากระบุชื่อยาและ วันที่ได้รับยานั้น จะทำให้สามารถพิจารณาระยะเวลาที่ควรเก็บยาที่เหลือนั้นได้
 
  ควรเก็บยาที่เหลือไว้นานเท่าใด ?
  • ยา ปฏิชีวนะที่ต้องผสมน้ำ และเก็บในตู้เย็น มีอายุ ของยา 7-14 วัน หลังจากผสมน้ำและ เก็บในตู้เย็น หลังจากนั้น ประสิทธิภาพของยาจะลดลงอย่างมาก ทำให้การรักษาไม่ได้ผล
  • ยา น้ำทั่วไป หลังจากเปิดขวด แล้วควรเก็บไว้ ไม่เกิน 6 เดือน หรือ ตามกำหนดวันหมดอายุอันใดอันหนึ่งที่มาถึงก่อน และพิจารณาลักษณะภายนอก ของยาประกอบด้วย เช่น ดูขุ่น ผิดปกติ หรือมีการตกตระกอน หรือ สีเปลี่ยนไป ถ้าไม่แน่ใจควรทิ้งไปจะดีกว่า
  • ยาเม็ดที่ ไม่ได้บรรจุใน Foil ควรเก็บ ไว้ไม่เกิน 6-12 เดือน โดยพิจารณา ลักษณะภายนอกของยาประกอบด้วย เช่น เม็ดร่วน แตกหัก หรือ สีเปลี่ยนไป ควรทิ้งยาที่พบนั้น
  • ยาเม็ด ที่บรรจุ Foil สามารถเก็บ ไว้ได้ ถึงวันหมดอายุของยา
  • ยา ใช้ภายนอก เช่น ครีมต่างๆ ควรเก็บไว้ ไม่เกิน 6 เดือน หรือ ตามกำหนดวันหมดอายุอันใดอันหนึ่งที่มาถึงก่อน และพิจารณาลักษณะภายนอกของยาประกอบด้วย
  • ยาหยอดตา, ยาป้ายตา ที่เปิดใช้แล้ว ควรเก็บ ไว้ไม่เกิน 30 วัน หลังจาก เปิดใช้     
    
     โปรดระลึกไว้เสมอว่า ยาที่เสื่อมสภาพนั้น อาจมีอันตรายต่อสุขภาพของท่าน หรือคนที่คุณรักได้มากและบางครั้ง การเก็บรักษายาที่ไม่ถูกต้องทำให้ยาเสื่อมก่อนถึงวันหมดอายุได้ จึงควรเอาใจใส่ เรื่อง การเก็บรักษายาที่ได้รับมา และ ทานยาตามที่แพทย์สั่งเสมอ เมื่อมีปัญหาอย่างไรควรปรึกษาแพทย์
     “ยานั้นมีคุณอนันต์ แต่ ก็อาจมีโทษมหันต์ ถ้าใช้ยาไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะยาที่เสื่อมสภาพ หรือ ยาหมดอายุ”
     ส่วนท่านที่ชอบซื้อยาทานเอง โดยรักษาตามคำบอกของเพื่อน หรือญาติ ที่อาจจะมีอาการคล้ายกัน นั้น ก็อยากจะขอให้ระมัดระวัง เนื่องจากยาที่ใช้อาจจะไม่ตรงกับโรคที่เป็น หรือใช้ขนาดยาที่ไม่ถูกต้อง หรืออาจจะมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่แต่ละคน อาจจะมีความแตกต่างกัน เนื่องจากการดำเนินโรคที่ต่างกัน รวมทั้งประวัติการแพ้ยา ซึ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน จึงอยากขอให้ปรึกษาแพทย์ จะดีกว่าการพยายามรักษาเองครับ
 
นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น