โจ๊ก อาหารเช้ายอดนิยมสำหรับหลายคน การทำโจ๊กไม่ยุ่งยาก หาก ทำทานเองที่บ้าน ก็นำปลายข้าวหอมมาต้มกับน้ำซุปกระดูกที่เคี่ยวจนได้ที่จะได้รสชาติของโจ๊กที่หวานน้ำต้มกระดูก เติมรสชาติให้กลมกล่อมขึ้นด้วยเกลือ และใส่เนื้อสัตว์ลงไป แค่นี้ก็ได้โจ๊กที่อร่อยได้ทั้งครอบครัวแล้ว
เนื่องจากการต้มโจ๊กต้องใช้เวลานาน แต่วิถีชีวิตของคนปัจจุบันต้องเร่งรีบในช่วงเช้า ทำให้ต้องหันมาพึ่งโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น เพราะหาซื้อง่าย และทานได้สะดวก
โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป มีส่วนประกอบหลักคือ ข้าวสารบด เนื้อสัตว์อบแห้ง ผักอบแห้ง เช่น ฟักทอง แครอท สาหร่าย เพื่อเสริมคุณค่าทางอาหารตามธรรมชาติ และมีการเติมเครื่องปรุงรสต่างๆ เพื่อทำให้โจ๊กมีรสชาติที่เข้มข้น และอร่อยถูกปาก
เจ้าเครื่องปรุงแต่งรสชาติเหล่านี้ มักมีส่วนประกอบของเกลือ หรือโซเดียม ในปริมาณสูง
ปริมาณโซเดียมที่กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้บริโภคต่อวัน (RDI) สำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ต้องไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือประมาณ 1 ช้อนชา เท่านั้น
เพราะหากเกินกว่านี้จะทำให้ไตทำงานหนัก เนื่องจากไตทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย
เมื่อไตเสื่อมย่อมส่งผลให้ระบบขับถ่ายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เกิดอาการบวมน้ำ ปัสสาวะบ่อย เพราะร่างกายต้องขับโซเดียมอยู่ตลอด และยังทำให้มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และเกิดภาวะความดันโลหิตสูงด้วย
สถาบันอาหารสุ่มตัวอย่างโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปบรรจุถ้วยและซองจำนวน 4 ตัวอย่าง 4 ยี่ห้อเพื่อนำมาวิเคราะห์หาปริมาณของโซเดียม
ปรากฏว่าในโจ๊ก 1 หน่วยบริโภค (1 ถ้วยหรือ 1 ซอง) พบว่ามีปริมาณโซเดียมอยู่ในช่วง 444.65–751.83 มิลลิกรัม
ฉะนั้นใน 1 วัน เราไม่ควรทานมากกว่า 1 ถ้วยหรือ 1 ซอง เพราะแต่ละวันเราจะได้รับโซเดียมจากอาหารชนิดอื่นๆ ที่เราทานเข้าไปด้วยแล้ว
หากทานมากกว่านั้น อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้ต้องเผชิญกับโรคภัย และไตเสื่อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วันนี้ ผู้บริโภคอย่างเราๆ คงต้องตัดสินใจเองว่า จะเลือกทานอาหารอย่างไรให้ห่างไกลจากโรค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น