ยานสำรวจ "ฟีเล" ส่งสัญญาณการติดต่อครั้งล่าสุดกลับมายังโลก หลังลงจอดบนดาวหางที่ไล่ตามมานาน 1 ทศวรรษได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ประเด็นแบตเตอรีที่อ่อนกำลังลงทุกขณะกำลังสร้างความกังวลให้กับทีมงาน เนื่องจากดาวหางกำลังจะเดินทางผ่านจุดหมายสำคัญ คือดวงอาทิตย์
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองดาร์มชตัดท์ ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ว่าองค์การอวกาศยุโรป ( อีซา ) รายงานสถานะล่าสุดของยานสำรวจฟีเล ซึ่งกำลังปฏิบัติภารกิจอยู่บนดาวหาง 67 พี/เซอร์ยูมอฟ เจราซีเมนโก หลังลงจอดบนพื้นผิวของดาวที่ไล่ติดตามานานถึง 10 ปีได้สำเร็จเมื่อวันพุธ ว่ายานสำรวจสามารถกลับมารับ-ส่งสัญญาณกับยานโรเซตตาได้อีกครั้ง ซึ่งส่งคลื่นการติดต่อกลับมายังโลก เมื่อเวลาราว 23.00 น. ตามเวลามาตรฐานสากล ( 06.00 น. วันเสาร์ ตามเวลาในประเทศไทย )
อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลานี้ทีมงานของอีซายังไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่นอนของยานฟีเลได้ มีเพียงภาพชุดล่าสุดที่ยานส่งกลับมายังโลกทำให้ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานได้เพียงว่า ยานลงจอดในบริเวณที่มีลักษณะคล้ายหน้าผาชันเท่านั้น และกำลังขุดสำรวจพื้นผิวในจุดดังกล่าวเพื่อเก็บตัวอย่างและบันทึกภาพ
ขณะเดียวกัน ทุกฝ่ายยังยอมรับด้วยว่า อาจเป็นการสายเกินไปที่จะชาร์จแบตเตอรีเพื่อต่ออายุการทำงานของยานสำรวจให้นานขึ้น แต่ทีมงานหวังว่า จะสามารถติดต่อกับยานฟีเลได้อีกอย่างน้อย 2-3 เดือน เนื่องจากหาง 67 พี/เซอร์ยูมอฟ เจราซีเมนโก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 4 กิโลเมตร กำลังเดินทางด้วยความเร็ว 18 กิโลเมตรต่อวินาที และอาจเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ปัจจุบันดาวหางดวงนี้อยู่ห่างจากโลกราว 510 ล้านกิโลเมตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น