วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557
เด็กและวัยรุ่นกับการใช้โทรศัพท์มือถือ
เมื่อไม่นานมานี้ ทางการประเทศอังกฤษเริ่มต้นการศึกษาสำคัญอย่างหนึ่ง นั่นคือ การศึกษาว่าด้วยผลกระทบของโทรศัพท์มือถือต่อภาวะการรู้คิดของเด็กและวัยรุ่น หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "สแคมป์" เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยมีศูนย์เพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ซีอีเอช) ของอังกฤษเป็นแม่งาน
ตามความรับรู้ของผม นี่นับเป็นครั้งแรกในโลกเท่าที่มีขึ้นมาในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับผลกระทบในเชิงจิตวิทยาจากการใช้โทรศัพท์มือถือ
การศึกษาเรื่องผลกระทบของโทรศัพท์มือถือนั้นมีน้อย การศึกษาในเชิงจิตวิทยายิ่งแทบไม่มี แถมที่มุ่งเน้นไปที่เด็กและวัยรุ่น ยิ่งไม่เคยปรากฏ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
การศึกษาวิจัยส่วนใหญ่ทางด้านผลกระทบของการใช้มือถือต่อสุขภาพ มักเน้นไปที่การศึกษาผลกระทบการแผ่รังสีของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทั้งจากมือถือ จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่การอยู่ใกล้เสาอากาศโทรศัพท์ของแต่ละเซลล์ไซต์ ด้วยข้อเท็จจริงพื้นฐานที่ว่า เนื้อเยื่อของคนเราสามารถ "ดูดซับ" รังสีที่ว่านั้นได้
ผลของการศึกษาเหล่านั้น แม้ว่าทั้งหมดจะไม่แสดงให้เห็นถึงอะไรๆ ที่น่าจะเป็นข้อกังวลเชิงสุขภาพในทันที แต่ก็แสดงให้เห็นหลายๆ กรณีที่คลื่นดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบทางชีวะ อย่างเช่น ผลการศึกษาเมื่อปี 2011 ที่พบว่า ถ้าคนเราตกอยู่ในรัศมีของคลื่นโทรศัพท์มือถือนาน 50 นาที กลไกเมทาบอลิซึ่มในสมองจะย่อย "กลูโคส" เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ "ผลการศึกษานี้ไม่รู้ว่ามีนัยสำคัญเชิงคลินิกหรือไม่" ผู้ศึกษาสรุปไว้เช่นนั้น
นอกจากนั้นยังมีสถิติการเชื่อมโยงในเชิงสห สัมพันธ์ระหว่างการใช้โทรศัพท์มือถือกับมะเร็งในสมอง แต่ก็อีกนั่นแหละ ไม่มีการพบการเชื่อมโยงในเชิงชีววิทยาที่จะเป็นพื้นฐานในการสร้างความกังวล ในเรื่องนี้ได้
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือในเวลานี้ โทรศัพท์มือถือแพร่หลายอย่างมาก และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตก็ยิ่งพัฒนาให้เครื่องรุ่นใหม่ๆ "แรง" ขึ้นตามลำดับทุกปี ผู้ใช้ที่เป็นวัยรุ่นและเด็กไม่เพียงมีจำนวนมากขึ้น ยังมีอายุน้อยลงตามลำดับ ในผลการศึกษาล่าสุดของ "อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน" พบว่าวัยรุ่นอายุระหว่าง 11-12 ปีในอังกฤษมีโทรศัพท์มือถือถึง 70 เปอร์เซ็นต์ นี่ยังไม่นับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นตามระดับราคาที่ลดลงเรื่อยๆ อีกด้วย
นั่นหมายถึงว่า ในชั่วชีวิตคนหนึ่งๆ คนเราจะใช้โทรศัพท์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่แผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ายาวนานขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน
นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ เมื่อปี 2010 องค์การอนามัยโลก ออกมาเรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบจากการใช้งานมือถือนานๆ ที่มีต่อโรคอย่างอัลไซเมอร์ หรือพาร์คินสัน
พร้อมกันนั้นก็ ย้ำเอาไว้ด้วยว่าถือเป็นความจำเป็น "เร่งด่วน" ที่จำเป็นต้องมีการศึกษาผลกระทบของมือถือในเด็กและวัยรุ่นอีกด้วย
สิ่งที่ทำให้นักวิชาการเป็นกังวลก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า "ระบบประสาท" ทั้งระบบของเด็ก-วัยรุ่นนั้นแตกต่างกับของผู้ใหญ่อยู่ตรงที่ระบบประสาทของ เด็กและวัยรุ่นยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนา ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบในทางลบต่อระบบทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใด มีสูงกว่าระบบประสาทของผู้ใหญ่ที่พัฒนาเต็มที่แล้ว นอกจากนั้นเด็กๆ และวัยรุ่นที่สัมผัสและใช้งานมือถือในวัยเยาว์ ก็จะสัมผัสและใช้งานมือถือเป็นระยะเวลายาวนานในช่วงชีวิตของตัวเองมากกว่า ผู้ที่เริ่มต้นใช้ในวัยผู้ใหญ่
ในการสำรวจทั่วยุโรปของสถาบัน เซฟาโล ที่วินิจฉัยเด็กๆ ชาวยุโรปอายุระหว่าง 7-19 ปีที่ล้มป่วยด้วยโรคเนื้องอกในสมองระหว่างปี 2004-2008 ได้ผลสรุปที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ถึงจะไม่สามารถยืนยันได้ว่าอาการป่วยของเด็กๆ เหล่านี้เกี่ยวพันกับการใช้โทรศัพท์มือถือ แต่ก็ไม่สามารถตัดความเกี่ยวพันกับมือถือออกไปได้เช่นเดียวกัน
นอกจากนั้นยังมีการศึกษาที่เรียกว่า "โมบี้-คิดส์" ซึ่งสำรวจเพื่อศึกษาวิจัยกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 10-24 ปี ที่มีป่วยเป็นเนื้องอกในสมองในช่วงระยะเวลา 5 ปี แต่ผลการศึกษาวิจัยนี้ยังไม่สิ้นสุดและกำหนดเผยแพร่ในปี 2016
"สแคมป์" แตกต่างออกไปจากการศึกษาเหล่านั้น เพราะเน้นไปที่การทดสอบ "การรับรู้" หรือ "การรู้คิด" (ค็อกนิชั่น) ที่จะเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการคิด กระบวนการตัดสินใจ การไตร่ตรองใคร่ครวญและรำลึกถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ
กระบวนการเหล่านี้เชื่อมโยงกับภูมิปัญญา ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และจะก่อรูปเป็นพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพในเชิงสร้างสรรค์ของ บุคคลแต่ละบุคคล
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น